• ประชาสัมพันธ์:

  • มิติใหม่ พระเครื่องไทยก้าวสู่บล็อกเชน คุณนิพนธ์ ระยองรีไชเคลิน ว่าด้วยพระเครื่องในยุคดิจิทัล

ประวัติหลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง

5 ตุลาคม 2564

ประวัติหลวงปู่ทิม อิสริโกวัดละหารไร่ จังหวัดระยอง

หลวงปู่ทิม นามเดิมชื่อทิม นามสกุลงามศรี เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ ๒ ตำบลละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง ๓ คน ท่านเป็นคนที่ ๒ เกิดเมื่อ ปีมะแม วันศุกร์ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน ๒๔๒๒ เป็นบุตรของนายแจ้ นางอินทร์ งามศรีหลวงปู่ทิมเป็นหลานของหลวงปู่สังข์ โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์ หลวงปู่สังข์นี้เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น หลวงปู่สังข์องค์นี้เป็นผู้ก่อตั้งวัดละหารไร่ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก น้ำลายที่ท่านถมถ้าถูกพื้น ๆ จะแตก เมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่าง ๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด ท่านกล่าวว่า “ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง” บรรดาตำราและวิทยาการต่าง ๆ หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งไว้ที่วัดละหารไร่นี้เองที่หลวงปู่ทิมก็ได้ใช้ศึกษาในเวลาต่อมา

 เมื่อท่านพระครูภาวนาภิรัติหรือหลวงพ่อทิม มีอายุเจริญวัยได้ ๑๗ ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้ส่งเสียและนำตัวของหลวงปู่ทิมไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี และมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดีแล้ว นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่านจึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ขอตัวหลวงปู่ทิมให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิมเพราะไม่มีคนช่วย หลวงปู่ทิมจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานและหาเลี้ยงพ่อแม่ตามวิสัยลูกที่ดี ผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้จักปฏิบัติพ่อแม่มาด้วยดีตลอด

ในวัยหนุ่มของหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นคนคะนองเอาการอยู่ โดยท่านจะเป็นคนไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการยิงนกตกปลาและออกเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่ เพื่อนำไปขาย ซึ่งท่านทำไปด้วยความคึกคะนองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวของท่านจนเมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเป็นทหารและได้เข้าประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษ จึงได้รับการปลดปล่อยกลับมาอยู่ที่บ้านตามเดิม และเมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน บิดาของท่านจึงได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ

อุปสมบท

หลวงปู่ทิมอุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน ๒๔๔๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม โดยมีพระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมาเป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ (พระอาจารย์ของท่าน ในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ ได้ฉายาว่า อิสริโก เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ได้ ๑ พรรษา ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้น ท่านได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ทีท่านได้ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎกอย่างตั้งใจ เพราะท่านมีความสนใจในทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่ทิม อิสริโก นับว่าเป็นพระอาจารย์ที่แปลกกว่าพระอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน คือ ท่านต้องการฝึกฝนตนเองด้วยการออกไปหาประสบการณ์ด้วยการออกเดินธุดงค์ ซึ่งพระในรุ่นเดียวกันไม่มีใครคิดที่จะออกไปแสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างท่าน เพราะต้องการศึกษาในทางพระปริยัติธรรมเท่านั้น เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้วท่านก็ได้ขออนุญาตและมนัสการกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นท่านก็มาพิจารณาว่า ท่านก็ได้ใช้เวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรเดินทางกลับมาพักเสียที เมื่อคิดดังนั้น ท่านก็เดินทางกลับมาจังหวัดชลบุรีและท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนามะตูมเป็นเวลา 2 พรรษา ระหว่างนั้นท่านก็ได้เที่ยวร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกันรวมทั้งฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสาย นอกจากนั้นยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา 2 ปี เศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่หรือ (วัดไร่วารี) ตามเดิมและท่านได้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์และอื่น ๆ อีกหลายอาจารย์ด้วยกัน

วัดละหารไร่ เดิมชื่อวัดไร่วารี เพราะมีน้ำอยู่ล้อมรอบ และเป็นที่กันดารมาก ถ้าใครได้หลงเข้าไป เป็นได้หลงป่าไปเลย ซึ่งแม้แต่หลวงปู่เองท่านยังต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปอยู่ ในสมัยนั้นทางรถก็ยังไม่มี จะมีก็แต่ทางเดินแคบ ๆ เท่านั้น หลวงปู่ท่านจึงต้องพัฒนากันใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่นนั้น คือได้มีชาวบ้านศรัทธาท่านมากถึงกับบวชเพื่อติดตามปรนนิบัติท่านถึง ๓ คน คือ นายทัต นายเปี่ยม และ นายแหยม ซึ่งทั้ง ๓ คนนี้มีความสนใจในวิชาทางศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อหลวงปู่ทิมมาอยู่วัดละหารไร่แล้ว ต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น พระอธิการทิม อิสริโก เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่น ๆ อีกหลายอย่างพร้อมด้วยญาติโยมทั้งหลายก็มีความเลื่อมใสต่อท่านมาก เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งในธรรมะและวินัยเป็นที่น่าเคารพมาก ต่อมาท่านจึงชักชวนบ้านและญาติโยมทั้งหลายได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น 1 หลัง ประมาณ 1 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาเรียบร้อยในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น และในปี พ.ศ. ๒๔๘๓  หลวงพ่อทิมได้จัดให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดาของประชาชน โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอน ต่อมาชาวบ้านเห็นดีด้วยกับการศึกษาจึงร่วมมือกับหลวงพ่อสร้างอาคารเรียนขึ้น ๑ หลัง ตามแบบ ป.๑ ข. โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 8 เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันอาคารหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมและรื้อถอนไปไม่ได้ใช้แล้ว  ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง สร้างหอฉันและศาลาการเปรียญสำเร็จ ด้วยเงินกว่า ๔ ล้านกว่า งานของท่านก็ได้บรรลุถึงความสำเร็จโดยเรียบร้อยทุกประการ ด้วยผลงานดังกล่าว ในปี ๒๔๗๘ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี ๒๔๙๗ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และในปี ๒๕๐๗ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาภิรัติ ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้ และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ นกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จำต้องพร้อมในกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศและตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้ ดยมีนายสาย แก้วสว่าง ในฐานะเป็นไวยาวัจกรและศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นผู้นำคณะชาวบ้านไปรับพัดยศมาถวาย หลวงปู่เป็นพระที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมและวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส ท่านฉันเช้าประมาณ ๗ โมงเช้าและน้ำชาก็เวลา ๔ โมงเย็น ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ ๔๗ ปี และ เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ท่านไม่ยอมฉัน มา ๔๗ ปีแล้ว แม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้อยู่เป็นนิจตลอดมา

รณภาพ

ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่ หลังจากที่ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เป็นเวลา ๒๓ วัน คณะศิษย์ได้จัดพิธีศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดละหารไร่ หลังจากทำบุญ ๑๐๐ วัน อุทิศส่วนกุศลให้กับหลวงปู่ทิมแล้ว ได้เก็บศพไว้ที่ศาลา ภาวนาภิรัต ศาลาการเปรียญ วัดละหารไร่ จนกระทั่งได้ทำการพระราชทานเพลิงศพท่านไปเมื่อวันที่ ๑๖

มีนาคม ๒๕๒๖ ประวัติความเป็นมา วัดละหารไร่ หมู่ที่ ๘ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

วัดละหารไร่นี้ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๕๔ เกิดขึ้นโดยหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า รองเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ในสมัยนั้น เห็นว่าพื้นที่ทางฝั่งตรงด้านตรงข้ามทางด้านเหนือของวัดละหารใหญ่ มีทำเลดีเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผัก จึงได้เกณฑ์พวกลูกศิษย์ช่วยกันหักร้างถางพงใช้เป็นที่ปลูกพืชผักไว้ขบฉันกินเป็นอาหาร ในฤดูแล้ง ในขั้นแรกได้ทำการสร้างที่พักร่มเงาเอาไว้ เมื่อถึงเลวเข้าพรรษาก็จำพรรษาที่วัดละหารใหญ่ ต่อมามีผู้คนได้ไปทำไร่ในแถบใกล้ ๆ ที่นั้นมากขึ้น และเห็นว่ามีพระสงฆ์อยู่ เมื่อถึงวันพระก็จัดทำภัตตาหารไปถวายเป็นประจำ และต่อ ๆ มาได้มีพระภิกษุไปอยู่เพิ่มมากขึ้น ๆ จึงได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น พระสงฆ์ก็จำพรรษาที่นั่นได้ แล้วตั้งชื่อว่าวัดละหารไร่ ตั้งแต่นั้นมา โดยมีหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า ไปเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

 ด้วยเหตุว่า   การค้นคว้าหาประวัตินั้นลำบากมาก เพราะเป็นเวลาเกือบ ๒๐๐ ปีมาแล้ว จึงได้อาศัยการเล่าสืบต่อกันมาและหลักฐานบางประการที่พอจะสันนิษฐานได้เป็นเรื่องประกอบในขณะที่ก่อตั้งวัดละหารไร่แล้วนั้น หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าก็เป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ จึงสันนิษฐานว่าเมื่อวัดละหารไร่มีภิกษุที่อาวุโสอยู่บ้างแล้ว หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าจึงมอบให้ปกครองกันเอง ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นหลวงพ่อแดงเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ต่อมาจากหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า ส่วนตัวท่านกลังไปเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ตามเดิม ต่อจากคุณพ่อเฒ่าจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ในสมัยนั้น เหตุการณ์ต่อจากนั้นไม่มีใครทราบโดยละเอียด แต่มีหนังสือบางเล่มอ้างว่า หลังจากหลวงพ่อแดงแล้ว หลวงพ่อองค์ต่อ ๆ มาคือ หลวงพ่อเกิด หลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อจ๋วม เป็นลำดับ หลังจากหลวงพ่อจ๋วมลาสิกขาไปแล้ว ทำให้วัดละหารไร่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่เลยเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาหลวงพ่อทิม งามศรี (ฉายา อิสริโก) ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดละหารไร่นี้เป็นต้นมา จึงได้เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นสืบมา